วันอังคารที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ฉันท์ [stanza]

ฉันท์ [stanza]

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

ฉันท์  เป็นลักษณ์หนึ่งของร้อยกรองในภาษาไทย จรรที่บังคับเสียงหนัก - เบาของพยางค์ ที่เรียกว่า ครุ - ลหุ ฉันท์ในภาษาไทยรับแบบมาจากประเทศอินเดีย ตำราฉันท์ที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดียเป็นภาษาสันสกฤต คือ ปิงคลฉันทศาสตร์ แต่งโดยปิงคลาจารย์ ส่วนตำราฉันท์ภาษาบาลีเล่มสำคัญที่สุดได้แก่ คัมภีร์วุตโตทัยปกรณ์ ผู้แต่งคือ พระสังฆรักขิตมหาสามี เถระชาวลังกา แต่งเมื่อ พ.ศ. 1703 เป็นที่มาของ คัมภีร์วุตโตทัย ซึ่งเป็นต้นตำหรับการแต่งฉันท์ของไทย[1] เมื่อคัมภีร์วุตโตทัยแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย กวีจึงได้ปรับปรุงให้เหมาะกับขนบร้อยกรองไทย เช่น จัดวรรค เพิ่มสัมผัส และเปลี่ยนลักษณะครุ-ลหุแตกต่างไปเล็กน้อย เพื่อเพิ่มความไพเราะของภาษาไทยลงไป
ฉันท์ ในคัมภีร์วุตโตทัยได้แปลงเป็นฉันท์ไทยครบทั้ง 108 ชนิด ในสมัยรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยนายฉันท์ ขำวิไล เป็นผู้ดัดแปลงเพิ่มเติมจนครบถ้วนและจัดพิมพ์รวมเล่มทั้งหมดในปี พ.ศ. 2474 ใช้ชื่อว่า ฉันทศาสตร์
นอกเหนือจากฉันท์ทั้ง 108 ชนิดดังกล่าวแล้ว กวีได้ทดลองประดิษฐ์ฉันท์ในรูปแบบใหม่ ๆ โดยดัดแปลงจากฉันท์เดิมบ้าง โดยเลียนเสียงเครื่องดนตรีบ้าง หรือโดยแรงบันดาลใจจากฉันท์ต่างประเทศ หรือชื่อบุคคลสำคัญบ้าง อย่างไรก็ตาม ฉันท์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ล้วนจัดอยู่ในประเภทฉันท์วรรณพฤติทั้งสิ้น

ฉันท์ในคัมภีร์วุตโตทัย

มีทั้งสิ้น 108 ชนิด แบ่งเป็น ฉันท์วรรณพฤติ ซึ่งบังคับพยางค์ จำนวน 81 ชนิด กับ ฉันท์มาตราพฤติ ซึ่งบังคับมาตรา จำนวน 27 ชนิด

ฉันท์วรรณพฤติ

ฉันท์วรรณพฤติ มีทั้งสิ้น 81 ชนิด บังคับจำนวนพยางค์ ตั้งแต่ บาทละ 6 พยางค์ ถึง 25 พยางค์ แต่ ฉันท์ที่คนไทยนิยมแต่ง มีเพียงไม่กี่ชนิด ได้แก่

จิตรปทาฉันท์ 8

หนึ่งบทมี 4 บาท บาทละ 8 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคละ 4 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอน
ลักษณะครุ-ลหุเหมือนกับทุกบาท คือ ครุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
เหตุพินาศอนุศาสน์ แสดง
ฉัพพิธะแจงนรปรีชา
เชิญมละโทษดุจพรรณนา
จักยศถาวรสวัสดี
ฉันทภิปรายอธิบายบท
คามภิรพจน์ศุภสารศรี
จิตระปทาพฤตินามมี
จินตกวีรนิพนธ์แถลง
— (ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)

วิชชุมมาลาฉันท์ 8

วิชชุมมาลาฉันท์ มีความหมายว่า "ระเบียบแห่งสายฟ้า" ประกอบด้วยครุล้วน จึงใช้บรรยายความอย่างธรรมดา
หนึ่งบทมี 4 บาท บาทละ 8 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคละ 4 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอน
ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ครุ-ครุ-ครุ-ครุ ครุ-ครุ-ครุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
แรมทางกลางเถื่อนห่างเพื่อนหาผู้
หนึ่งในนึกดูเห็นใครไป่มี
หลายวันถั่นล่วงเมืองหลวงธานี
นามเวสาลีดุ่มเดาเข้าไป
ผูกไมตรีจิตเชิงชิดชอบเชื่อง
กับหมู่ชาวเมืองฉันอัชฌาสัย
เล่าเรื่องเคืองขุ่นว้าวุ่นวายใจ
จำเป็นมาในด้าวต่างแดนตน
— สามัคคีเภทคำฉันท์ชิต บุรทัต

มาณวกฉันท์ 8

มาณวกฉันท์ มีความหมายว่า "ประดุจเด็กหนุ่ม" ใช้แต่งบรรยายความที่รวดเร็ว
หนึ่งบทมี 4 บาท บาทละ 8 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคละ 4 คำ ส่งสัมผัสแบบกลอน
ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ครุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ครุ-ลหุ-ลหุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
ล่วงลุประมาณกาลอนุกรม
หนึ่งณนิยมท่านทวิชงค์
เมื่อจะประสิทธิ์วิทยะยง
เชิญวรองค์เอกกุมาร
เธอจรตามพราหมณไป
โดยเฉพาะในห้องรหุฐาน
จึงพฤฒิถามความพิสดาร
ขอ ธ ประทานโทษะและไข
— สามัคคีเภทคำฉันท์ชิต บุรทัต

ปมาณิกฉันท์ 8

หนึ่งบทมี 4 บาท บาทละ 8 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคละ 4 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอน
ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาทคือ ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
ประดิษฐ์ประดับประคับประคอง
ละเบงละบองจำแนกจำนรร
ระเบียบและบทสุพจน์สุพรรณ์
จะเฉิดจะฉันวิเรขวิไล
ลิลิตลิลาศมิคลาดมิคล้อย
ก็เรียบก็ร้อยอำพนอำไพ
จะจัดจะแจงผิแขงผิไข
แถลงไถลก็เสื่อมก็ทราม
— (ฉันทศาสตร์)

อุปัฏฐิตาฉันท์ 11

หมายถึงฉันท์ที่กล่าวสำเนียงอันดังก้องให้ปรากฏ
หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 11 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 5 พยางค์ วรรคหลัง 6 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์
ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ครุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
เห็นเชิงพิเคราะห์ช่องชนะคล่องประสบสม
พราหมณ์เวทอุดมธก็ลอบแถลงการณ์
ให้วัลลภะชนคมะดลประเทศฐาน
กราบทูลนฤบาลอภิเผ้ามคธไกร
— สามัคคีเภทคำฉันท์ชิต บุรทัต

อินทรวิเชียรฉันท์ 11

อินทรวิเชียรฉันท์ มีความหมายว่า "ฉันท์ที่มีลีลาดุจสายฟ้าของพระอินทร์" เป็นฉันท์ที่นิยมแต่งกันมากที่สุด มีลักษณะและจำนวนคำคล้ายกับกาพย์ยานี 11 แต่ต่างกันเพียงที่ว่าอินทรวิเชียรฉันท์ มีข้อบังคับ ครุและลหุ
หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 11 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 5 พยางค์ วรรคหลัง 6 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์
ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
บงเนื้อก็เนื้อเต้นพิศะเส้นสรีร์รัว
ทั่วร่างและทั้งตัวก็ระริกระริวไหว
แลหลังก็หลั่งโล-หิตโอ้เลอะหลั่งไป
เพ่งผาดอนาถใจตละล้วนระรอยหวาย
— สามัคคีเภทคำฉันท์ชิต บุรทัต

อุเปนทรวิเชียรฉันท์ 11

หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 11 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 5 พยางค์ วรรคหลัง 6 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์
ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
ทิชงค์เจาะจงเจตน์กละห์เหตุยุยงเสริม
กระหน่ำและซ้ำเติมนฤพัทธะก่อการ
ละครั้งระหว่างคราทินะวาระนานนาน
เหมาะท่าทิชาจารย์ธก็เชิญเสด็จไป
— สามัคคีเภทคำฉันท์ชิต บุรทัต

อุปชาติฉันท์ 11

หนึ่งบทมี 4 บาท บาทละ 11 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 5 พยางค์ วรรคหลัง 6 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์
ลักษณะครุ-ลหุ
  • บาทที่ 1 และบาทที่ 4 เป็นอุเปนทรวิเชียรฉันท์ คือ ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ
  • บาทที่ 2 และบาทที่ 3 เป็นอินทรวิเชียรฉันท์ คือ ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
พิธีณะฉันทศาสตร์อุปชาตินามเห็น
เชลงลักษณลำเค็ญกลนัยสลับกัน
นาเนกะบัณฑิตย์จะประกิจประกอบฉันท์
พินิจฉบับบรรพ์บทแน่ตระหนักใจ
— (ประชุมจารึกวัดประเชตุพนฯ)

สาลินีฉันท์ 11

หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 11 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 5 พยางค์ วรรคหลัง 6 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์
ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ครุ-ครุ-ครุ-ครุ-ครุ ลหุ-ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
พราหมณ์ครูรู้สังเกตประจักษ์เหตุตระหนักครัน
ราชาวัชชีสรรพะจักสู่พินาศสม
ยินดีบัดนี้กิจจะสัมฤทธิ์มนารมณ์
ทำมาด้วยปรากรมและอุตสาหะแห่งตน
— สามัคคีเภทคำฉันท์ชิต บุรทัต

สวาคตาฉันท์ 11

หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 11 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 7 พยางค์ วรรคหลัง 4 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์
ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
ข้าสดับสุมะทะนาวจะว่าวอน
ใจก็นึกกรุณะหล่อนฤดิสงสาร
เล็งก็รู้ณพะหุเหตทุขะเภทพาล
ใคร่จะช่วยและอุปะการยุวะนารี
— มัทนะพาธาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วังสัฏฐฉันท์ 12

หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 12 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 5 พยางค์ วรรคหลัง 7 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์
ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
อนี้และนามวังสฐะดั่งฉบับนิพนธ์
ประกอบวิธียลบทแบบก็แยบขบวน
ดิเรกะวิญญูชนะรู้แลใคร่แลครวญ
สนุกเสนอควรสุขจิตรประดิษฐ์ณะฉันท์
— (ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)

อินทวงศ์ฉันท์ 12

หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 12 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 5 พยางค์ วรรคหลัง 7 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์
ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
ราชาประชุมดำ-ริหะโดยประการะดัง
ดำรัสตระบัดยังวจนัตถ์ปวัตติพลัน
ให้ราชภัฏโปริสะไปขมีขมัน
หาพราหมณ์ทุพลอันบุระเนระเทศะมา
— สามัคคีเภทคำฉันท์ชิต บุรทัต

โตฎกฉันท์ 12

หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 12 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคละ 6 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์
ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
มะทะนาดนุรักวรยอดยุพะดี
และจะรักบมิมีฤดิหน่ายฤระอา
ผิวะอายุจะยืนศะตะพรรษะฤกว่า
ก็จะรักมะทะนาบมิหย่อนฤดิหรรษ์
— มัทนะพาธาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภุชงคประยาตฉันท์ 12

ภุชงคประยาตฉันท์ 12 มีความหมาย "งูเลื้อย" มีทำนองที่สละสลวย มักใช้แต่งกับเนื้อหาที่มีการต่อสู้ บทสดุดี บทชมความงาม บทถวายพระพร และบทสนุกสนาน นอกจักนั้นยังสามารถใช้แต่งบรรยายความให้รวดเร็วได้
หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 12 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคละ 6 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์
ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ลหุ-ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
ทิชงค์ชาติ์ฉลาดยลคเนกลคนึงการ
กษัตริย์ลิจฉวีวารระวังเหือดระแวงหาย
เหมาะแก่การจะเสกสันปวัตติ์วัญจะโนบาย
มล้างเหตุพิเฉทสายสมัคคิ์สนธิ์สโมสร
— สามัคคีเภทคำฉันท์ชิต บุรทัต

กมลฉันท์ 12

หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 12 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคละ 6 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์
ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
ทวิโลกยาฤๅคุณก็บุลยบันดาล
อภิมงคลาลาญทุวิบากวิบัติภัย
คณะฉันทสรรค์นามกรตามบุราณไข
บทกลอนกระมลไพเราะหพร้องลบองแสดง
— (ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)

วสันตดิลกฉันท์ 14

วสันตดิลกฉันท์ มีความหมายว่า "ฉันท์ที่มีลีลาดังจอมเมฆในฤดูใบไม้ผลิ (ฤดูฝน)" เป็นหนึ่งในฉันท์ที่นิยมแต่งกันมากที่สุด เนื่องจากอ่านแล้วฟังได้รื่นหู รู้สึกซาบซึ้งจับใจ มักใช้แต่งชมความงาม และสดุดีความรักหรือของสูง
หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 14 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 8 พยางค์ วรรคหลัง 6 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์
ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
แสงดาววะวาวระกะวะวับดุจะดับ บ เด่นดวง
แขลับก็กลับพิภพะสรวงมิสะพรึบพะพราวเพรา
เคยเห็นพระเพ็ญ ณ รัศมีรัชนีถนัดเนา
เหนือนั่นแน่ะพลันจะสละเงากลเงินอร่ามงาม
— เหมือนพระจันทร์ข้างแรมชิต บุรทัต

มาลินีฉันท์ 15

ชื่อฉันท์แปลว่า ดอกไม้ เป็นฉันท์ที่แต่งยากแต่ทว่ามีความงามประดุจดอกไม้ ทำนองฉันท์สั้นกระชับในตอนต้น แล้วราบรื่นในตอนปลาย เป็นฉันท์ที่มีท่วงทำนองเคร่งขรึมน่ายำเกรง กวีมักใช้แต่งเพื่ออวดความสามารถในการใช้ศัพท์และเป็นเชิงกลบท
หนึ่งบทมี 15 พยางค์ แบ่งเป็น 3 วรรค วรรคแรก 8 พยางค์ วรรคสอง 4 พยางค์ วรรคสุดท้าย 3 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิก
ลักษณะครุ-ลหุ คือ ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ-ครุ ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ครุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
กษณะทวิชะรับฐานันดร์และที่วา
จกาจารย์
นิรอลสะประกอบภารพีริโยฬาร
และเต็มใจ

ประภัททกฉันท์ 15

หนึ่งบทมี 15 พยางค์ แบ่งเป็น 3 วรรค วรรแรก 7 พยางค์ วรรคสอง 4 พยางค์ และวรรคสุดท้าย 4 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิก
ลักษณะครุ-ลหุ คือ ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
สุวุติปภัททการจิตนา
มกรประกาศ
บทคณฉันทศาสตร์นิกรปราชญ์
ประพฤติเพียร
พจนพิจิตรเรียนอลสะเพียร
มโนวิจารณ์
วิบุลยปรีชญาณพลจะชาญ
ฉลาดนิพนธ์
— (ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)

วาณินีฉันท์ 16

หนึ่งบทมี 16 พยางค์ แบ่งเป็น 3 วรรค วรรแรก 7 พยางค์ วรรคสอง 4 พยางค์ และวรรคสุดท้าย 5 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิก
ลักษณะครุ-ลหุ คือ ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
นรนฤนาทภิบาลกลประมาณ
ประเล่ห์อุประมา
จะประพฤติราชกิจานุกิจสา \
ธุธรรม์บอาธรรม์
บุพบทวากยวรรณวุดิฉัน
ทวณินีนาม
— (ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)

กุสุมิตลดาเวลลิตาฉันท์ 18

หนึ่งบทมี 18 พยางค์ แบ่งเป็น 3 วรรค วรรแรก 11 พยางค์ วรรคสอง 4 พยางค์ และวรรคสุดท้าย 3 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิก
ลักษณะครุ-ลหุ คือ ครุ-ครุ-ครุ-ครุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ครุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
เสวกพึงศึกษาณสุวสดิดอุด-
ดมดิเรกดุจวิการกถา
ฉันท์นี้ธีเรศอ้างกุสุมิตลดา
เวลลิตานามกรขนาน
— (ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)

เมฆวิปผุชชิตาฉันท์ 19

หนึ่งบทมี 19 พยางค์ แบ่งเป็น 3 วรรค วรรแรก 12 พยางค์ วรรคสอง 4 พยางค์ และวรรคสุดท้าย 3 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิก
ลักษณะครุ-ลหุ คือ ลหุ-ครุ-ครุ-ครุ-ครุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ครุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
ขบวรเลบงเพรงพากย์พร้องก็เพราะพจนกลอน
เสนอกระวีวรทฤษฎี
ลบองเมฆวิปผุชชาติตาสุวุฒิกลมี
ฉันทคัมภีร์พฤโตทัย
— (ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)

สัททุลลวิกกีฬิตฉันท์ 19

สัททุลลวิกกีฬิตฉันท์ มีความหมาย "เสือผยอง" ใช้แต่งบทไหว้ครู บทโกรธ และบทยอพระเกียรติ
หนึ่งบทมี 19 พยางค์ แบ่งเป็น 3 วรรค วรรแรก 12 พยางค์ วรรคสอง 5 พยางค์ และวรรคสุดท้าย 2 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิก
ลักษณะครุ-ลหุ คือ ครุ-ครุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
พร้อมเบญจางคประดิษฐ์สฤษติตษฎี
กายจิตร์วจีไตรวาร
ไหว้คุณพระสุคตอนาวรณญาณ
ยอดศาสดาจารย์มุนี
อีกคุณสุนทรธรรมะคัมภิรวิธี
พุทธ์พจน์ประชุมตรีปิฎก
— สามัคคีเภทคำฉันท์ชิต บุรทัต

อีทิสังฉันท์ 20

อีทิสังฉันท์ 20 เป็นฉันท์ที่มีจังหวะกระแทกกระทั้น ฉะนั้นจึงใช้แต่งบรรยายความรัก ความวิตก และความโกรธ
หนึ่งบทมี 20 พยางค์ แบ่งเป็น 3 วรรค วรรแรก 9 พยางค์ วรรคสอง 8 พยางค์ และวรรคสุดท้าย 3 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิก
ลักษณะครุ-ลหุ คือ ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ครุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
อ้าอรุณแอร่มระเรื่อรุจี
ประดุจมโนภิรมย์ระตีณ แรกรัก
แสงอรุณวิโรจน์นภาประจักษ์
แฉล้มเฉลาและโศภินักณ ฉันใด
หญิงและชาย ณ ยามระตีอุทัย
สว่าง ณ กลางกมลละไมก็ฉันนั้น
— มัทนะพาธาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

สัทธราฉันท์ 21

ฉันท์ที่มีลีลาวิจิตรประดุจสตรีเพศผู้ประดับด้วยพวงมาลัย
หนึ่งบทมี 21 พยางค์ แบ่งเป็น 4 วรรค วรรแรก 7 พยางค์ วรรคสอง 7 พยางค์ วรรคสาม 4 พยางค์ และวรรคสุดท้าย 3 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิก
ลักษณะครุ-ลหุ คือ
ครุ-ครุ-ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ
ครุ-ลหุ-ครุ-ครุลหุ-ครุ-ครุ
ตัวอย่างคำประพันธ์
อรรถแสดงแห่งเหตุพิเศษผลนิกรวิธุรชน
เชิญประกอบกลประกาศสาร
รังสรรค์ฉันทพากยโบราณบุนรจนวิถาร
สัทธราขนานณนามกร
— (ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)

ฉันท์มาตราพฤติ

ฉันท์มาตราพฤติ เป็นฉันท์ที่บังคับมาตรา โดยกำหนดให้พยางค์เสียงหนักคือ พยางค์ครุเป็นพยางค์ละ 2 มาตรา ส่วนพยางค์เสียงเบา คือ พยางค์ลหุ เป็นพยางค์ละ 1 มาตรา ในคัมภีร์วุตโตทัยมีฉันท์มาตราพฤติ 27 ชนิด ตั้งแต่บทละ 45 มาตรา จนถึง 68 มาตรา แบ่งเป็น 4 พวกใหญ่ ๆ คือ

อริยชาติฉันท์

มี ๗ ชนิด ได้แก่ อริยฉันท์, อริยสามัญญฉันท์, อริยปัฐยาฉันท์, อริยวิปุลาฉันท์, อริยจปลาฉันท์, อริยมุขจปลาฉันท์ และ อริยชฆนจปลาฉันท์

คีติชาติฉันท์

มี ๔ ชนิด ได้แก่ คีติฉันท์, อุปคีติฉันท์, อูคีติฉันท์ และอริยคีติฉันท์

เวตาฬิยชาติฉันท์

มี ๙ ชนิด ได้แก่ เวตาฬิยฉันท์, โอปัจฉันทสกะฉันท์, อาปาตลิฉันท์, ลักขณันตฉันท์, อุทิจจวุตติฉันท์, ปัจจวุตติฉันท์, ปวัตตกฉันท์, อปรันติกฉันท์ และจารุหาสินีฉันท์

มัตตาสมกชาติฉันท์

มี ๗ ชนิด ได้แก่ อจลฐิติฉันท์, มัตตาสมกฉันท์, วิสิโลกฉันท์, วานวาสิกฉันท์, จิตราฉันท์, อุปจิตราฉันท์ และปาทากุลกฉันท์

กวีไม่นิยมใช้ฉันท์มาตราพฤติในงานกวีนิพนธ์

ฉันท์มาตราพฤติเป็นฉันท์ที่กำหนดมาตรา ไม่กำหนดคณะฉันท์ ผู้แต่งสามารถพลิกแพลงอักษรใช้ได้หลายแบบในมาตราที่กำหนด ทำให้ดูขาดระเบียบ และไม่กำหนดฉันทลักษณ์ที่แน่นอนลงได้ รวมทั้งกำหนดจังหวะอ่านลำบาก กวีจึงไม่นิยมใช้ฉันท์มาตราพฤติในงานกวีนิพนธ์ จะมีก็แต่ในตำราฉันท์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเท่านั้น

ฉันท์ประดิษฐ์ขึ้นใหม่

การประดิษฐ์ฉันท์ใหม่ของกวีตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่ามี 2 ลักษณะ[1]คือ
  • ฉันท์ที่ประดิษฐ์จากฉันท์เดิมในคัมภีร์วุตโตทัย
  • ฉันท์ที่ประดิษฐ์ใหม่จากแหล่งที่มาอื่น

ฉันท์ที่ประดิษฐ์จากฉันท์เดิมในคัมภีร์วุตโตทัย

ฉันท์ที่ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยอยุธยาและปรากฏชื่อในจินดามณี

มี ๓ ชนิด คือ วิเชียรดิลกฉันท์, ดิลกวิเชียรฉันท์ และโตฎกดิลกฉันท์
  • วิเชียรดิลกฉันท์ เกิดจากการผสมระหว่างอินทรวิเชียรฉันท์ กับวสันตดิลกฉันท์ หนึ่งบทมี ๒ บาท ๒๕ พยางค์ บาทแรกเป็นอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ พยางค์ บาทที่ ๒ เป็นวสันตดิลกฉันท์ ๑๔ พยางค์ มีบังคับระหว่างบาทกับระหว่างบท ตัวอย่าง
เคยพาดพระหัตถ์เหนือ(๕)อุรราชกัลยา(๖)
กอดเกี้ยวคือกาญจนลดา(๘)อันโอบอ้อมทุมามาลย์(๖)
พิศพักตรมณฑลศศิบริสุทธิเปรียบปาน
เปรมร่วมมฤธูรสุบันดานรดีดัดบันเจิดใจ
— (จินดามณี)
  • ดิลกวิเชียรฉันท์ เกิดจากการผสมระหว่างวสันตดิลกฉันท์ กับอินทรวิเชียรฉันท์ หนึ่งบทมี ๒ บาท ๒๕ พยางค์ บาทแรกเป็นวสันตดิลกฉันท์ ๑๔ พยางค์ บาทที่ ๒ เป็นอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ พยางค์ มีบังคับสัมผัสระหว่างบาทกับสัมผัสระหว่างบท ตัวอย่าง
อุรประทับอรถนัง(๘)บรามัสสิวรไวย(๖)
จุมพิตริมไร(๕)โอษฐคันฐกัลยา(๖)
บริสังคติพระอุระองค์อานุชพนิดา
สมสนุกนิเสน่หารสราคเอมอร
— (จินดามณี)
  • 'โตฎกวิเชียรฉันท์ เกิดจากการผสมระหว่างโตฎกฉันท์ กับวสันตดิลกฉันท์ หนึ่งบทมี ๒ บาท ๒๖ พยางค์ บาทแรกเป็นโตฎกฉันท์ ๑๒ พยางค์ บาทที่ ๒ เป็นวสันตดิลกฉันท์ ๑๔ พยางค์ มีบังคับสัมผัสระหว่างบาทกับสัมผัสระหว่างบท ตัวอย่าง
วรรังษิประไพ(๖)บุรโชติพรายพรรณ(๖)
เสตาเจนิรัตนสรรพ(๘)ปริโตปิลังโค(๖)
หรคัณหปิงคำกปิโลโลปิตโต
สิหัษรโทโพอรุโณภาศรัศศมี
— (จินดามณี)

ฉันท์ที่ประดิษฐ์ในสมัยรัตนโกสินทร์

  • กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ทรงประดิษฐ์ฉันท์ขึ้น ๕ ชนิด ในพระนิพนธ์เฉลิมเกียรติกษัตรีคำฉันท์ โดยผสมฉันท์ ๔ ชนิดได้แก่ อินทรวิเชียรฉันท์ วสันตดิลกฉันท์ ภุชงคปยาตฉันท์ และอินทวงศ์ฉันท์เข้าด้วยกันเกิดเป็น ภุชพงศ์ฉันท์ (ผสมระหว่างภุชงคปยาตฉันท์กับอินทวงศ์ฉันท์) วสันตวงศ์ฉันท์ (ผสมระหว่างวสันตดิลกฉันท์กับอินทวงศ์ฉันท์) วสันตปยาตฉันท์ (ผสมระหว่างวสันตดิลกฉันท์กับภุชงคปยาตฉันท์) ภุชงควิเชียรฉันท์ (ผสมระหว่างภุชงคปยาตฉันท์กับอินทรวิเชียรฉันท์) และอินทรลิลาตฉันท์ (ผสมระหว่างอินทรวิเชียรฉันท์กับภุชงคปยาตฉันท์)
ตัวอย่างวสันตวงศ์ฉันท์ 15
ผัวเมียพม่าทุพละพาศน์หินะชาตินิวาศพนอม
ขัดแคลนนิแสนทุรนะตรอมอุระเท้งเขยงขยัน
ทำตาลก็นานนิตยะเพียงผละเลี้ยงชีวินละวัน
เกิดบุตรีก็สุดจะปิยะฉันชิวะพ่อพะนอถนอม
— (เฉลิมเกียรติกษัตรีคำฉันท์)
ตัวอย่างอินทรลิลาตฉันท์ 11
ผ่านฟ้าพญาเสือดุร้ายเหลือและโลภโกง
เสมือนต้อนตะโพงโขลงพศกหาภุกาเมนทร์
ไทเอือนพระเหมือนม่านเพราะบักอานกะการเกณฑ์
เดือดดาลกะบาลเบนขบถไท้ผิใครชวน
— (เฉลิมเกียรติกษัตรีคำฉันท์)
  • เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หรือ ครูเทพได้นำเอาอินทรวิเชียรฉันท์มาแต่งสลับกับวสันตดิลกฉันท์ ใช้ชื่อว่า อินทวสัสตดิลกฉันท์ ดังตัวอย่าง
ราตรีก็แม่นมีขณะดีและร้ายปน
ไป่ผิดกะคนคนคุณโทษประโยชน์ถม
ราตรีกลีกลพิโรธหฤโหดกระหึมลม
มืดตื้อกระพือพิรุณพรมและฤเราจะแยแส
— (โคลงกลอนของครูเทพ เล่ม ๒)
  • ชิต บุรทัต ได้แทรกครุ - ลหุ เพิ่มในกาพย์สุรางคนางค์ 28 ทำให้เกิดความไพเราะมากยิ่งขึ้น คนรุ่นต่อมาจึงมักเรียกเป็น สุรางคนางค์ฉันท์ 28 และเห็นว่าเหมาะสำหรับข้อความที่คึกคัก สนุกสนาน โลดโผน ตื่นเต้น
ตัวอย่างคำประพันธ์
สะพรึบสะพรั่ง
ณหน้าและหลังณซ้ายและขวา
ละหมู่ละหมวดก็ตรวจก็ตรา
ประมวลกะมาสิมากประมาณ
นิกายเสบียง
ก็พอก็เพียงพโลปการ
และสัตถภัณฑสรรพภาร
จะยุทธราญกะเรียกระดม
— สามัคคีเภทคำฉันท์ชิต บุรทัต
  • ประสาทพร ภูสุศิลป์ธร หรือนามปากกา คมทวน คันธนู ประดิษฐ์ฉันท์ใหม่ 15 ชนิด โดย
    • ผสมฉันเดิมสองแบบเข้าด้วยกัน 9 ชนิด ได้แก่
      • ทวนไฟฉันท์ 39 (สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ 19 ผสมกับอีทิสังฉันท์ 20)
      • เหมันตดิเรกฉันท์ 15 (วสันตดิลกฉันท์ 14 ผสมกับอินทวงศ์ฉันท์ 12) (ซ้ำกับวสันตวงศ์ฉันท์ 11 ของ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์)
      • อุเปนทรวังสัฏฐฉันท์ 23 (อุเปนทรวิเชียรฉันท์ 11 ผสมกับวังสัฏฐฉันท์ 12)
      • วงศ์วิเชียรฉันท์ 23 (อินทรวิเชียรฉันท์ 11 ผสมกับอินทวงศ์ฉันท์ 12)
      • นาคเล่นน้ำฉันท์ 26 (ภุชงคปยาตฉันท์ 12 ผสมกับวสันตดิลกฉันท์ 26)
      • อินทวงศ์วังสัฏฐฉันท์ 12 (อินทวงศ์ฉันท์ 12 ผสมกับวังสัฏฐฉันท์ 12)
      • ภุชงควิเชียรฉันท์ 12 (ภุชงคปยาตฉันท์ 12 ผสมกับอินทรวิเชียรฉันท์ 11)
      • วิเชียรภุชงค์ฉันท์ 11 (อินทรวิเชียรฉันท์ 11 ผสมกับภุชงคปยาตฉันท์ 12) (ซ้ำกับอินทรลิลาตฉันท์ 11 ของ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์)
      • อินทรวสันตฉันท์ 25 (อินทรวิเชียรฉันท์ 11 ผสมกับวสันตดิลกฉันท์ 14)
    • เปลี่ยนแปลงครุลหุในฉันท์เดิม 6 ชนิด ได้แก่
      • ธนูฝนฉันท์ 17 (เพิ่มจากวสันตดิลกฉันท์ 14 อีก 3 พยางค์)
      • คิมหันตดรงฉันท์ 29 (เพิ่มลหุในวรรคที่ 2 ของวสันตดิลก 14)
      • คันฝุ่นฉันท์ 11 (ดัดแปลงอุปัฏฐิตาฉันท์ 11)
      • คมแฝกฉันท์ 40 (ดัดแปลงจากวิชชุมมาลาฉันท์ 8) บางทีเรียก ฉันท์ 40 หรือ อัษฎาดุริยางค์
        • ตัวอย่างคำประพันธ์
ความลับจะดำมืดความชืดจะชินชา
ด้วยเล่ห์ ณ เวลามองฟ้าสิอาจม
คนไทยไฉนเล่าโง่เง่าและงายงม
หลงชื่นระรื่นชมนานนมนิยมมา
ต่างเห็นจะเป็นเหยื่อเฝ้าเชื่อและบูชิต
ยิ่งคาดอนาถผิดเจ็บจิตอนิจจา
ฝังปลูกกระดูกผีกี่ปีก็เปรมปรา
โคตรใครจะไคลคลาไพร่ฟ้าสิหน้าเขียว
— สามแพร่งชีวิตคำฉันท์คมทวน คันธนู
      • นิรนามฉันท์ 20 (กำหนดครุลหุลงในกาพย์ฉบัง)
      • อินทรธนูฉันท์ 12 (ดัดแปลงจากอินทวงศ์ฉันท์ 12)

ฉันท์ที่ประดิษฐ์ใหม่จากแหล่งที่มาอื่น

  • พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือ น.ม.ส. ทรงประดิษฐ์ฉันท์ ๓ ชนิด คือ สยามรัตนฉันท์สยามวิเชียรฉันท์ และ สยามมณีฉันท์ จาก อินเมโมเรียม ของ อังกฤษ โดยดัดแปลงสัมผัสให้แตกต่างกัน (ภายหลังมีการค้นพบว่า สยามมณีฉันท์ พ้องกับ ประมาณิกาฉันท์ ในตำราฉันโทมัญชรี ซึ่งมีมากว่า ๑,๐๐๐ ปีแล้ว)
    • ตัวอย่าง สยามมณีฉันท์ 8 (สัมผัสแบบกลอนสุภาพ)
ชโยสยาม ณ ยามจะรุ่นสยามดรุณจะเร็วเจริญ
ณ คราวจะเรียนก็เพียรจะเพลินฤ ใครจะเกินสยามดรุณ
กุมาระไทยไฉนจะหลงจะลืมพระองคะทรงสกุล
ยามะรัฐอุบัติเพราะบุญพระเดชพระคุณพระราชะวงศฯ
  • สุภร ผลชีวิน ประดิษฐ์ฉันใหม่ ๒ ชนิด คือ เปษณนาทฉันท์ จากเสียงครกกระเดื่องตำข้าว และ มุทิงคนาทฉันท์ จากเสียงจังหวะตะโพนประกอบการรำโทน
    • ตัวอย่าง เปษณนาทฉันท์ 16 (สัมผัสแบบกลอนสุภาพ)
ณยามสายัณห์ตะวันย้อยต่ำเถอะเร่งเท้าตำจะค่ำแล้วหนอ
ตะแล้กแต้กแต้กจะแหลกแล้วพ่อกระด้งเขารอจะขอรับไป
บุรุษรอทีสตีเร่งเท้าบุรุษยั่วเย้ากระเซ้าเสียงใส
กระเดื่องตำข้าวก็กราวเสียงไกลสนุกน้ำใจสมัยราตรี
  • พันโท สุจิต ศิกษมัต ประดิษฐ์ พิบูลรัชนีฉันท์ เพื่อสดุดีจอมพล แปลก พิบูลสงคราม นางสาวจิรา จันทรานนท์นัยวินิจ นำไปแต่งเผยแพร่ในนามปากกา จิราจันท์
    • ตัวอย่าง พิบูลรัชนีฉันท์
โอ้องค์พระทรงสมญา"ปิยมหาจุฬาลงกรณ์"
ไทยสามิภักดิ์ภูธรหทยเทอดพระเลิศเลอธรรม์
แสงสูริย์จรูญจำรัสรพิประภัสสร์ก็เพียงกลางวัน
แสงโสมชโลมแหล่งสรรพ์ภพอร่ามก็ยามกลางคืน
  • ถวัลย์ นวลักษณ์กวี ประดิษฐ์ฉันท์ 3 ชนิด คือ ภูมิพลอดุลยเดชฉันท์ และ วชิราโสมสวลีฉันท์ โดยกำหนดครุลหุจากชื่อฉันท์ โดยได้รับพระบรมราชานุญาต ส่วน ฉันท์ 20 เป็นการประดิษฐ์ถวายสมเด็จพระบรมราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ คราวเสด็จเยือนประเทศไทย พ.ศ. 2515
    • ตัวอย่าง ภูมิพลอดุลยเดชฉันท์
รวมปฐมพระจักริวงศ์วีระทรงบำราบอมิตร
เบญจมงค์วรงค์มหิทธิ์ปิยะราชผนิตสยาม
ดั่งพระเนาวมงค์พระนามไท้พระภัทร "ภูมิพลฯ"
ครบฉนำเฉลิมพระชนม์ปกประชาพิเศษพิชัย
  • เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประดิษฐ์ รพีพัฒน์ฉันท์ 6 โดยกำหนดครุลหุจากพระนามวรรคแรกของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ตัวอย่าง
รพีพัฒนศักดิ์พระเอกอัคคุณ
อร่ามเรือง ณ อรุณสถิตทอนิติธรรม
  • ชยศรี สุนทรพิพิธ ชาลี ประดิษฐ์ฉันท์ใหม่ คือ ชยสุนทรฉันท์ 23 ตัวอย่าง
ละครวิทยุประลุวิทยานันท์
กระแสส่งนภาพลันระกะสายกระจายเสียง
มิเปลืองฉากธนะผิแสดงก็สรรเพียง
ประโลมโลกนิยายเรียงรจเรขรำพันครวญ
  • พันเอก ชัยวิทย์ ชยาภินันท์ ได้ประดิษฐ์ กลาโหมกีรติฉันท์ 12 ใน กลาโหมคำฉันท์ เมื่อ พ.ศ. 2552 ตัวอย่าง
สยามชาติเจริญรุ่งคติมุ่งจรุงมั่น
วิบูลย์สุขขจายครันศุภนันทนาการ
ผดุงกิจการแผ้วก่อทแกล้ววิวัฒน์งาน
สฤษฎีวิถีภารฐิติสานลุมั่นคง
  • พรหมเทพ ชัยกิตติวณิชย์ ประดิษฐ์ฉันท์ใหม่ คือ สุริยดิลกฉันท์ เมื่อ 2 เมษายน พ.ศ. 2558 โดยผสมผสานวสันตดิลกฉันท์กับกลอนวะกะหรือทังกะของญี่ปุ่น กล่าวคือ สองวรรคสุดท้ายจบคล้ายกลอนทังกะ แต่ใช้จำนวนพยางค์ 8 พยางค์ให้เท่ากับวรรคแรกของวสันตดิลกฉันท์ ในขณะที่ในกลอนทังกะ 2 วรรคสุดท้ายมีจำนวนพยางค์วรรคละ 7 พยางค์ญี่ปุ่น ตัวอย่าง
ในศุภวารติถิมาสนรราษฏร์ก็จงรัก
แต่งปาฏลีสตุติภักดิเฉลิมพระชนมา
องค์เทพรัตนสุดาพรมังคลาฐิตะนิรันดร์

ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ฉันทลักษณ์ (กวีนิพนธ์ไทย) [prosody - versification]

ฉันทลักษณ์ (กวีนิพนธ์ไทย)  [prosody - versification] ฉันทลักษณ์   หมายถึง ลักษณะบังคับของคำประพันธ์ไทย ซึ่ง กำชัย ทองหล่อ ให้ความ...